0
คุณสมบัติของคนที่ได้รับสิทธิ
คนที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด คือ “เด็กแรกเกิด” ที่มีสัญชาติไทย ซึ่งเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จนอายุครบ 6 ปี และต้องไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน หากใครไม่แน่ใจว่าตนเองสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้หรือไม่ สามารถเช็กคุณสมบัติได้ ดังนี้
เด็กที่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือ
1. มีสัญชาติไทย (พ่อแม่มีสัญชาติไทย หรือ พ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย)
2. แรกเกิด – 6 ปี
3. อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง
ผู้ปกครองที่สามารถลงทะเบียน
1. มีสัญชาติไทย
2. เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ
3. เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
4. อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท /คน ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 หรือ 40 ก็สามารถลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนบุตรได้ หากรายได้เฉลี่ยต่อปีไม่เกินเกณฑ์ และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าครอบครัวเรามีรายได้เฉลี่ยกี่บาทต่อปี เตรียมเครื่องคิดเลขให้พร้อม แล้วมาลองคำนวณตามวิธีด้านล่างได้เลย
วิธีการคำนวณ
รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน = รายได้รวมกันของสมาชิกครอบครัวเด็กแรกเกิด (÷) จำนวนสมาชิกครอบครัวเด็กแรกเกิด
|
*จำนวนสมาชิกครอบครัวเด็กแรกเกิดที่นำไปคำนวณ ให้นับรวมเด็กแรกเกิดด้วย แต่ไม่นับรวมรายได้ของสมาชิกที่อาศัยอยู่ในครอบครัวน้อยกว่า 180 วัน / ปี และไม่นับรวมลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของครัวเรือน
แต่ก็ไม่ต้องรีบจนเกินไป สำหรับคุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ยังไม่ต้องมายื่นคําร้องขอลงทะเบียน รอให้คลอดเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยมาลงทะเบียน ส่วนผู้ปกครองท่านใดที่อ่านคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังไม่มั่นใจว่าเข้าข่ายได้จะรับเงินหรือไม่ สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์โครงการเงินอุดหนุนฯเพิ่มเติมได้ จะได้มั่นใจว่าไม่พลาดสิทธิ
เอกสารประกอบการลงทะเบียน ประกอบด้วย
1. แบบคำร้องขอลงทะเบียน ดร.01(คลิกที่นี่)
2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน ดร.02(คลิกที่นี่)
3. บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง
4. สูติบัตรเด็กแรกเกิด
5. สมุดบัญชีเงินฝาก หรือหมายเลขพร้อมเพย์ (เลขบัตรประชาชน) ที่จะใช้รับเงิน
- บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย
- บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
6. สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก
เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์ (กรณีที่สมุดสูญหาย ให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)
7. กรณีเป็นลูกจ้างประจำของหน่วยงานรัฐและเอกชน ต้องมีสลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม
8. สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเอกสารอื่นใดที่ผู้รับรองใช้แสดงตน (เพื่อใช้ยืนยันรายได้)
- ผู้รับรองคนที่ 1 (อาสาสมัครสาธารณสุข/ ประธานชุมชน/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน)
- ผู้รับรองคนที่ 2 (ผู้อำนวยการเขต/ ปลัดเมืองพัทยา หรือข้าราชการที่ปลัดเมืองพัทยามอบหมาย/ ปลัดเทศบาลหรือข้าราชการที่ปลัดเทศบาลมอบหมาย)
ใช้เอกสารอย่างละ 1 ฉบับ และรับรองสำเนาถูกต้องให้ครบ แต่หนังสือรับรองเงินเดือนต้องใช้ฉบับจริงเท่านั้น